Monday, April 12, 2010

วัยรุ่นสมาธิสั้นเป็นอย่างไร

เดี๋ยวนี้โรคที่ผู้ปกครองทั้งหลายรู้จักชื่อกันดีและนิยมรีบ พามาตรวจกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นมากที่สุดคือโรคสมาธิสั้นกับโรคออทิสติก ซึ่งการรวบรวมข้อมูลในประเทศไทย พบว่าสองโรคนี้รวมกันมีความชุกในเด็กมากกว่าร้อยละ 10 และผู้ปกครองของวัยรุ่นหลายคนก็ได้รับรู้ไปด้วยว่าลูกของตนมีอาการอย่างนั้น ตอนเด็กๆ ก็เลยพามาตรวจด้วยซะเลย เผื่อจะยังเป็นอยู่ ซึ่งวันนี้จะเล่าถึงอาการของโรคสมาธิสั้นในวัยรุ่นหลายๆ รูปแบบที่หมอเจอในประสบการณ์การทำงานนะคะ
เอ็ม อายุ 15 หน้าตาหงุดหงิด มากับคุณแม่สาวสวยหน้าเศร้า เขาบอกว่าแม่ให้ตำรวจไปจับเขามาจากร้านเกมทำให้เขาเสียหน้ามาก คุณแม่บอกว่าจำเป็นต้องทำเพราะเขาไม่เข้าโรงเรียนมาเป็นเดือนแล้วและญาติที่ เป็นหมอบอกว่าจำเป็นต้องบังคับรักษา เอ็มเรียนไม่เก่ง เอาแต่ใจ ใช้เงินไม่ยั้ง ขับรถเร็ว สูบบุหรี่ และโกหกตลอด แม่กลัวลูกจะเสียอนาคต

เอ หนุ่มหล่ออายุ 16 มาหาหมอกับแม่ครั้งแรกบอกเองเลยว่าตัวเองเป็นคนขอให้แม่พามาเพราะสงสัยว่า ตัวเองเป็นอะไรถึงสมาธิสั้นกว่าเพื่อนๆ เอสังเกตุว่าตอนที่โรงเรียนให้นั่งสมาธิหลับตา เออึดอัดมาก และต้องลืมตาก่อนใครๆทุกครั้ง เอจึงมีโอกาสเห็นว่าคนอื่นๆนั่งนิ่งได้อย่างไม่เห็นจะยากตรงไหน เขารู้สึกอยากรู้จริงๆว่าเขามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า

ปิ่น สาวสวยปีหนึ่งอายุ 17 จากมหาวิทยาลัยหนึ่งที่แสนจะโรแมนติก มาหาหมอเองด้วยสีหน้าเศร้า เธอเพิ่งเลิกกับเพื่อนชายแสนดีที่บอกเธอว่าเขาทนเสียใจกับเธอไม่ไหวแล้วจึง ขอแยกทาง เธอเล่าว่าเธอก็เสียใจไม่แพ้กันที่ทำให้เขาน้อยใจ และโกรธเสมอๆเพราะเธอใจลอยบ่อยๆ เวลาคุยกัน และมักลืมนัดกับเขาเสมอ เขาคิดว่าเธอไม่ใส่ใจและชอบแก้ตัว แต่เธอยืนยันว่าเธอพยายามแล้วทำไม่ได้จริงๆ เธออยากความจำดีและไม่ใจลอย

เปา หนุ่มสมาร์ทร่างใหญ่จากคณะวิศวะ มากับพ่อแม่ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ต้องการจะปรึกษาเรื่องการย้ายมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่กังวลว่าเขาย้ายมาแล้วหนึ่งครั้งและจะย้ายอีกเป็นเพราะอะไร เท่าที่คุยกันมายังงงๆเลยคิดว่าอยากให้จิตแพทย์ช่วยวิเคราะห์ที เพราะไม่อยากให้ลูกเสียเวลาอีกแล้ว เขาไม่เคยมีปัญหาการเรียนในสมัยอยู่ในโรงเรียนเลย พ่อแม่คาดว่าเป็นเพราะไม่ต้องบริหารจัดการเวลา และไม่มีอะไรให้ย้ายไปมาแบบในมหาวิทยาลัย
สรุปว่าพฤติกรรมที่ควรสงสัยว่าวัยรุ่นจะเป็นโรคสมาธิสั้นมีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ๆซึ่งเป็นอาการของการขาดความสามารถทั้งในการควบคุมสมาธิ การควบคุมการเคลื่อนไหว และการควบคุมอารมณ์ คือ

1.
อาการสมาธิบกพร่อง เช่น ขี้ลืม ทำของหายบ่อย เบื่อง่าย ขี้เกียจ ขาดความอดทนพากเพียรที่จะทำงานที่ต้องใช้สมาธิให้สำเร็จ เลือกทำแต่สิ่งที่ชอบ สนุกสนานหรือไม่ต้องใช้สมาธิ เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หลีกเลี่ยงที่จะเขียนหนังสือหรือทบทวนบทเรียน เปลี่ยนความสนใจบ่อย มักทำงานที่เริ่มต้นไว้ไม่เสร็จและเสร็จแล้วก็ไม่ตรวจทานให้รอบคอบ บางคนอาจเหม่อลอยหรือฝันกลางวันบ่อยๆ ผลงานมักออกมาไม่ดีเท่าที่ควรทั้งที่มีสติปัญญาที่จะทำได้ดีกว่านั้น

2.
อาการอยู่ไม่นิ่ง เช่น ยุกยิกเวลาอยู่กับที่ กัดเล็บ ขีดเขียนหรือวาดรูปเลอะเทอะในสมุดเรียน ชอบทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว อึดอัดเวลาไม่มีอะไรทำ พูดมาก

3.
อาการใจร้อน หุนหันพลันแล่น เช่น หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห อดทนรอคอยได้ยาก พูดโพล่งหรือพูดแทรก ทำอะไรไม่วางแผนล่วงหน้า ไม่คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจทำอะไร มักมีปัญหากับคนรอบข้าง ขับรถเร็ว ชอบทำสิ่งที่ตื่นเต้นท้าทาย เก็บข้าวของไม่เป็นระเบียบ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการของวัยรุ่นแต่ละคนก็แตกต่างกันไปได้ขึ้นกับความ รุนแรงและอาการเด่นของคนคนนั้น พื้นอารมณ์ บุคลิกภาพ การปรับตัว และการดูแลช่วยเหลือที่ได้รับจากคนรอบข้างตั้งแต่วัยเด็ก และวัยรุ่นบางคนยังมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ดื้อ เกเร เป็นต้น
คนที่เป็นโรคนี้ได้รับการยืนยันแน่ชัดว่ามีสมองทำงานผิดปกติในหลายๆ ส่วน ทั้ง brain stem, frontal lobe, basal ganglia, cerebellum และ corpus callosum ซึ่งปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดความผิดปกตินี้คือ พันธุกรรม การที่มารดามีปัญหาขณะตั้งครรภ์ การที่มารดาใช้สารเสพติดรวมทั้งบุหรี่ และอาจเกี่ยวข้องกับอาหารและวิตะมินบางตัวด้วย ส่วนการเลี้ยงดูที่ไม่มีวินัย การดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมไม่ใช่สาเหตุโดยตรงเพียงแต่เป็นเหตุกระตุ้นให้มี พฤติกรรมที่เป็นปัญหามากขึ้นเท่านั้น

มีการวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่ายาหลายประเภทสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเหล่า นี้ให้ดีขึ้นได้ แต่ควรจะฝึกปรับพฤติกรรมด้านต่างๆด้วย เพราะยาช่วยให้สมองพร้อมที่จะเชื่อฟังตัวเรา แต่นิสัยหลายอย่างที่เราบกพร่องอยู่ก็จำเป็นสำหรับความสำเร็จนะคะ


ขอบคุณมัมมี่พีเดียคะ

No comments: