Monday, April 26, 2010

สอนลูกอย่างไรดี คำตอบอยู่ที่เซลล์กระจกเงา


เมื่อมีลูก พ่อแม่ทุกคนฝาก ‘ความหวัง’ ไว้ที่ลูกเสมอ หวังอยากให้ลูกได้ดี หวังอยากให้ลูกเป็นที่เชิดหน้าชูตาของ พ่อแม่และวงค์ตระกูล หวังว่าจะได้ฝากผีฝากไข้ยามที่พ่อแม่แก่เฒ่า

นี่ คือความหวัง แต่ความสมหวังคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพ่อแม่ไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไรเลย ตรงกันข้าม ยิ่งหวังมาก ยิ่งต้องออกแรงมาก ที่น่าเป็นห่วงคือ พ่อแม่หลายต่อหลายคนเข้าใจผิดว่า การลงทุนของพ่อแม่คือการใช้เงิน การจ้าง หรือไหว้วานคนอื่นให้มาทำหน้าที่แทน ให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นมาทำในสิ่งที่ตัวเองควรจะทำ สุดท้ายพ่อแม่อาจจะไม่ได้สมหวังตามที่ตั้งความหวังเอาไว้

ใน เมื่อมันเป็นหน้าที่เราก็ต้องยอมรับ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความสำคัญของหน้าที่อันนี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนน้อยไปกว่าการทำมาหากินของพ่อ แม่ ข้ออ้างที่ว่า ต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดูลูก ผมว่าเราต้องเลิกอ้างกันได้แล้ว หากเรายังหวังว่าเมื่อถึงเวลา ‘ลูก’ จะคือผู้ที่ทำให้ ‘ความหวัง’ ของเราเป็นจริง

เราพบอยู่เสมอว่า เมื่อเวลาเด็กมีปัญหา พ่อแม่จะกล่าวโทษครูที่โรงเรียนว่าไม่ช่วยสอนเรื่องนั้น เรื่องนี้ พอโรงเรียนบอกว่าพ่อแม่ต้องช่วยโรงเรียนด้วย พ่อแม่จะบอกว่าไม่มีเวลา ต้องทำมาหากิน สุดท้ายจึงเรียกร้องให้มีหลักสูตรคุณธรรมขึ้นในโรงเรียน โรงเรียนก็จัดให้ตามคำขอ คุณธรรมจริยธรรมกลายเป็นวิชาขึ้นมา ต้องเรียน ต้องสอบเก็บคะแนน ใครได้คะแนนมากแปลว่ามีคุณธรรมมาก ทั้งๆ ที่คุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของคน การปลูกฝังควรจะอยู่ในบริบทของวิถีชีวิตประจำวัน และควรเป็นบทบาทของพ่อแม่

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า พ่อแม่ส่วนหนึ่งกำลังลืมบทบาทของตัวเอง และมองข้ามความสำคัญของการเป็น ‘แม่ไม้’ เพื่อให้ ‘ลูกไม้’ ได้ร่วงหล่นอยู่ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น

เซลล์กระจกเงาคืออะไร มีความสำคัญอะไรต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ‘แม่ไม้’ และ ‘ลูกไม้’

คุณอาจเคยเจอเหตุการณ์ที่เห็นคนอื่นหาวแล้วคุณหาวตามโดยอัตโนมัติ คุณอาจเคยฟังเพื่อนสนิทเล่าเรื่องราวความไม่ดีของสามีของเขาให้ฟังด้วยความ โกรธแค้น และน้อยใจ แล้วคุณก็รู้สึกโกรธเกลียดสามีของเพื่อนตามไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่เคยทำอะไรให้คุณขุ่นเคืองใจเลย

คุณอาจเคยไปดูเขา สาธิตการทำอาหาร พอกลับถึงบ้านคุณสามารถปรุงอาหารจานนั้นให้สามีและลูกรับประทานได้อย่าง เอร็ดอร่อยโดยที่ไม่ต้องกางตำราเลย ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ ‘เซลล์กระจกเงา’ ครับ

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในสมองของคนเรามีเซลล์อยู่ชนิดหนึ่ง หน้าที่ของมันคือการทำเลียนแบบท่าทางผู้อื่นที่พบเห็นทั้งโดยตั้งใจ หรือโดยอัตโนมัติ มันทำหน้าที่ ‘อ่าน’ ท่าทีหรือท่าทางของคนอื่นเพื่อให้เราได้ ‘เข้าใจ’ ถึงความรู้สึกและเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้ท่าทีและท่าทางนั้นๆ แถมยังบังคับ ควบคุมให้เราปรับท่าทีหรือท่าทางให้สอดคล้องกับ ‘ความเข้าใจ’ ของเราที่มีต่อความในใจ หรือเจตนาของคนผู้นั้นด้วย ด้วยเหตุนี้แหละครับคุณถึงได้หาวตามผู้อื่น โกรธเคืองสามีคนอื่น ทำอาหารได้เพียงแค่ไปดูเขาสาธิตวิธีทำ นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเซลล์ชนิดนี้ว่า ‘เซลล์กระจกเงา : Mirror Neuron’

คุณ เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมเด็กเล็กๆ ที่พูดยังไม่ได้หรือพูดยังไม่ค่อยชัด แต่ก็สามารถเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือสอนได้ โดยเฉพาะเมื่อเวลาพ่อแม่พูดพร้อมกับแสดงท่าทางให้เห็นด้วย จากเสียงที่เปล่งออกมาประกอบกับท่าทางที่พ่อแม่แสดงออกจะกระตุ้นให้เซลล์ กระจกเงาของเด็กสามารถอ่าน และเข้าใจความหมายหรือเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้น้ำเสียง และท่าทางนั้นได้

นี่ คือวิธีการเรียนรู้ที่เด็กเล็กๆ ใช้เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดที่ธรรมชาติได้มอบให้ นั่นก็คือ การเรียนรู้ด้วยการเอาอย่าง (Imitative Learning) ซึ่งเป็นการทำงานของเซลล์กระจกเงานั่นเอง การเรียนรู้แบบนี้แหละครับที่ทำให้เกิดภาษาและความเข้าใจในภาษาของเด็ก การเรียนรู้ทั้งสองแบบคือการเรียนรู้ด้วยการเอาอย่าง และการเรียนผ่านทางการสื่อสารด้วยภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของมนุษย์ไปจนตลอดชีวิต

ใน เมื่อเด็กยังเล็กอยู่ การเรียนรู้โดยการสื่อสารด้วยภาษายังไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะความสามารถในการรับ หรือส่งภาษายังไม่มากพอ ดังนั้น การเรียนรู้โดยผ่านทางภาษาจึงยังไม่บังเกิดผลอย่างเต็มที่ เซลล์กระจกเงาจึงเป็นคำตอบที่สำคัญของคำถามที่ว่าจะสอนลูกอย่างไรดี โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ

มาดูกันครับว่าเราจะใช้ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา สอนลูกได้อย่างไรบ้าง เพื่อจะให้ลูกสามารถทำให้ ‘ความหวัง’ ที่เราฝากไว้ให้เป็นจริงในอนาคต

หวังอยากให้ลูกเป็นคนดี สิ่งที่เราต้องทำก็คือ
- ทำดีให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง พาลูกไปกราบคุณตาคุณยาย พาลูกไปทำบุญ
- อย่าทำสิ่งไม่ดีแม้ลูกจะไม่อยู่ เพราะอาจเผลอทำเวลาที่ลูกอยู่ด้วย
- กันลูกออกจากแบบอย่างที่ไม่ดี เพราะเราไม่อยากให้เซลล์กระจกเงาของเขาไปสัมผัสกับแบบอย่างที่ไม่ดี
- ชมเมื่อลูกทำดี

หวังอยาก ให้ลูกรัก (การอ่าน) หนังสือ สิ่งที่เราต้องทำคือ
- อ่านหนังสือให้ลูกเห็นทุกวัน
- เล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน
- มีหนังสือ (ล่อใจ) ให้ลูกอ่าน (เล่น) ที่บ้าน
- มีกระดาษ ดินสอ สี เอาไว้ขีดเขียน
- พาลูกไปห้องสมุด และร้านหนังสือสัปดาห์ละครั้ง
- ชมเมื่อเห็นลูกอ่าน (เล่น) หนังสือ

หวังอยากให้ลูกเก่งและมีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่ต้องทำคือ
- พ่อแม่ทำตัวเป็นคนอย่างรู้ให้ลูกเห็น หากลูกตั้งคำถามพาลูกค้นหาคำตอบ
- พ่อแม่พาลูกทำกิจกรรมอ่าน ฟัง ดูให้มาก
- แสดงให้ลูกเห็นว่า ชอบวิธีคิดของลูกมากกว่าคำตอบของลูก
- ชมเมื่อลูกมีวิธีคิดที่แตกต่าง หรือมีวิธีคิดใหม่ๆ


จาก: นิตยสารรักลูก

No comments: