คนที่เป็นพ่อแม่นั้น ห่วงลูกที่สุดนอกเหนือจากเรื่องสุขภาพแล้ว ก็เห็นจะเป็นเรื่องการศึกษานี่ล่ะครับ ทุกปีเราจะเห็นพ่อแม่ไม่ว่ายากดีมีจนวิ่งเต้นหาโรงเรียนให้กับลูก โดยเฉพาะตอนเข้า ป.1 และ ม.1 หลายคนเครียดเสียจนทำให้ลูกพลอยเครียดและกลายเป็นเด็กมีปัญหา มีปมด้อยเมื่อสอบเข้าไม่ได้ในโรงเรียนที่พ่อแม่หวังไว้ไปเลยก็มีการ ที่จะเพิ่มโอกาสในการให้ลูกสอบเข้าได้ในโรงเรียนที่หวังไว้ คงต้องมาจากการวางแผนล่วงหน้า เช่น ต้องติวลูกในวิชาที่เขาอ่อน และติวตนเองให้พร้อมกับการถูกโรงเรียนสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองด้วยอีก สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือการวางแผนทางการเงินสำหรับการศึกษาของลูก เพราะจะมีประโยชน์อะไรถ้าลูกสอบเข้าได้ แต่พ่อแม่ไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายได้ หลายคนอาจคิดว่าโรงเรียนรัฐบาลดีๆ ที่คิดค่าเทอมไม่แพงก็มีอยู่มากมาย จะต้องวางแผนทางการเงินด้วยหรือ คำตอบก็คือ ไม่มีโรงเรียนไหนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ที่จะถูกเพิ่มเข้ามา เช่น ค่าชุดพละ ค่าหนังสือแบบฝึกหัด ค่ากิจกรรมนอกสถานที่ ฯลฯ นอกจากนี้อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ทุกปีด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าค่าใช้จ่ายในปีนี้เป็น 10,000 บาทต่อปี และโรงเรียนคาดว่าจะปรับขึ้น 5% ต่อปี ภายใน 6 ปี ค่าใช้จ่ายนี้จะกลายเป็น 13,400 บาทต่อปีเลยครับ
ดังนั้น ในการวางแผนการศึกษาให้กับลูก เราต้องมีการวางแผนทางการเงินควบคู่กันไปด้วยครับ
ทางเลือกในการออมเงินเพื่อการศึกษาของลูก
ทางเลือกที่ 1 วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การเปิดบัญชี เงินฝากไว้ในชื่อลูก แล้วก็ใส่เงินเป็นงวดๆ ทุกเดือนไป ปัญหาของการใช้วิธีนี้คือ จะได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำในระยะยาว และพ่อแม่ต้องมีวินัยในการออมเงินจริงๆ เพราะฝากง่ายก็ถอนง่าย ดังนั้นถ้าจะเลือกวิธีนี้ อาจใช้ประเภทบัญชีฝากประจำพิเศษปลอดภาษีที่หลายธนาคารมีอยู่ ซึ่งกำหนดให้ฝากเงินเป็นประจำทุกเดือนเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยรับฝากไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือนก็ได้
ทางเลือก ที่ 2 ที่หลายคนทำกันคือ การ ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ในชื่อของลูก วิธีนี้เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่ไม่มีวินัยทางการเงิน จึงต้องให้บริษัทประกันชีวิตบังคับให้ออมโดยการชำระเบี้ยประกันเป็นงวดๆ เป็นระยะเวลาหลายปี เมื่อครบกำหนดอายุถ้าลูกไม่ได้เสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินก้อนให้ ซึ่งส่วนใหญ่คือทุนประกันนั่นเอง ข้อด้อยสำหรับทางเลือกนี้คือเงินที่เราจ่ายไปทุกปีจะถูกบริษัทประกันชีวิตนำ ไปใช้เป็นค่าบริหารงาน และรับความเสี่ยงการประกันชีวิตด้วย ผลตอบแทนที่จะได้จึงไม่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไหร่
ทางเลือกที่ 3 คือการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชน ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ลงทุนก่อน เพื่อที่จะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเป็นงวดๆ (ปกติปีละ 2 ครั้ง) เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเมื่อครบกำหนดแล้ว จะได้เงินต้นที่ลงทุนไว้ตั้งแต่แรกคืนมา
(ถ้า ผู้ออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้ไม่เบี้ยวหนี้) ข้อด้อยของทางเลือกนี้คือ สภาพคล่องของตราสารเหล่านี้มีน้อยกว่าเงินฝาก และถ้าเราต้องการขายออกก่อนวันครบกำหนด เราอาจขาดทุน นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่ได้ส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ปีแรกได้ 5% ปีที่ 8 ก็ยังได้ 5% อยู่
ทางเลือก ที่ 4 เป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีการนำเงินไปลงทุนได้หลากหลาย มีทั้งตราสารระยะสั้น ตราสารระยะยาว หุ้น ทองคำ หรือแม้กระทั่งการลงทุนในต่างประเทศ ข้อด้อยของทางเลือกนี้คือ ผลตอบแทนจะไม่แน่นอนโดยเฉพาะในระยะสั้น ทำให้พ่อแม่หลายคนไม่ค่อยสบายใจ แต่ที่จริงจะเป็นวิธีที่ทำให้เงินของเราพอกพูนขึ้นในระยะยาวได้ดีวิธีหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีก แต่อาจเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำได้ยาก เช่น การแต่งตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินให้นำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนไปจ่ายให้กับ สถาบันการศึกษาโดยตรง เป็นต้น
การวางแผนการเงินสำหรับการศึกษาของลูกควรแบ่ง เงินออกเป็นส่วนๆ ตามระยะเวลาที่ต้องใช้เงินในแต่ละช่วงเวลา ควรใช้การออมและการลงทุนหลายๆ อย่างประกอบกัน โดยปรับส่วนประกอบให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ และเวลาที่เหลืออยู่ เช่น เงินก้อนที่เตรียมไว้สำหรับลูกเข้าเรียนระดับมัธยมในอีก 7 ปีข้างหน้าอาจมีการลงทุนในหุ้นอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนลูกเรียนอยู่ ป.4 ก็ควรปรับสัดส่วนมาเป็นการลงทุนที่เสี่ยงน้อยแทนครับ
ขอบคุณมามี่พีเดียคะ
No comments:
Post a Comment