Friday, September 11, 2009

สอนเด็กให้รู้จักอดทนรอ - How to teach children to give up


How to take care your children to know how to give up. Many ways that family has to be an example to show their children. Remember adult is the good example for them.


เด็กไทยหลาย คนกำลังมีปัญหา ขาดความอดทน อยากได้อะไรเร็ว ๆ หรือหากจะได้มาก็ต้องได้ดั่งใจ พอไม่เป็นไปตามต้องการก็ร้องไห้งอแง อาละวาด โวยวาย ส่วนหนึ่งอาจมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ทำให้เขาเห็นว่า ตัวเขาเองนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลทั้งปวง ยิ่งในครอบครัวที่มีลูกคนเดียว ล้อมรอบด้วยพี่ป้าน้าอาปู่ย่าตายายคอยเอาใจ ก็ยิ่งมีโอกาสให้เด็กเห็นความสำคัญของตนเองมาก่อนคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคิดไปได้ว่า "เวลาของคนอื่นมีค่าน้อยกว่าเวลาของเรา" ได้

มาตรการด้านความอดทน จึงควรนำมาใช้ เพื่อฝึกให้เขาเหล่านี้โตขึ้นอย่างมีวินัย และรู้จักการ "อดทนรอ" ค่ะ โดยเริ่มจาก

1. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

หากคุณเป็นพ่อแม่ประเภทที่ใจร้อน ต้องการความรวดเร็วในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็อาจต้องบังคับตัวเองให้เป็นคนใจเย็น และอดทนมากขึ้น เพราะลูกจะเรียนรู้โดยดูจากพ่อแม่เป็นต้นแบบ การพาลูกไปซื้อของก็เป็นการฝึกให้เด็กเห็นถึงต้นแบบการอดทนที่ดี เพราะ เด็กจะได้เห็นว่า พ่อแม่ของเขาต้องต่อคิวซื้อสินค้า ต่อคิวจ่ายเงิน เหมือนคนอื่น ๆ ทุกคนในร้านก็ต่อคิวซื้อกันหมด ไม่มีใครแซงกัน ที่สำคัญไม่ต้องเครียดเพราะความเร่งรีบด้วย

2. ตั้งเป้าหมายในการได้มา

เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่มี "ของ" หรือ "บางสิ่งบางอย่าง" ที่ลูกต้องการ (ถ้ายิ่งต้องการมาก ๆ การตั้งเป้าหมายก็ยิ่งง่ายขึ้น) ในกรณีนี้พ่อแม่เพียงตั้งเป้าหมายให้ลูกทำให้บรรลุผล เช่น ทำตารางการอ่านหนังสือขึ้นมา หนังสือแต่ละเล่มก็เหมือนไอเท็มเกม 1 ชิ้น เด็กอ่านหนังสือจบ 1 เล่มก็เก็บไอเท็มได้ 1 ชิ้น ทำจนครบ แล้วจึงจะได้ของขวัญที่ต้องการ หรือจะทำตารางการช่วยงานบ้าน เช่น ล้างจาน พับผ้า ทิ้งขยะ ถูบ้าน ฯลฯ ให้ลูกได้ฝึกงานบ้าน พร้อม ๆ กับการฝึกอดทนก็ได้เช่นกัน

3. บอกช่วงเวลาการรอคอยที่ชัดเจน

การฝึกให้เด็กอดทนรอ อาจต้องเลือกใช้คำที่เหมาะสม การที่ลูกมาร้องขอบางสิ่งบางอย่างใกล้ๆ แม่ ตอนที่แม่กำลังยุ่งกับงานในบ้าน หรืองานในครัว คุณแม่หลายท่าน (ที่ยังอารมณ์ดี) อาจบอกว่า "รออีกแป๊บนึง" แต่ก็จะพบว่า อีกไม่นาน เด็ก ๆ ก็จะกลับมาใหม่พร้อมคำถามเดิม ๆ เพราะความอดทนของเขามันก็จะเกิดเพราะคำว่า "แป๊บนึง" เหมือนที่แม่บอก จนบางทีทำให้พ่อแม่หลายท่านเริ่มอารมณ์เสียที่ลูกมาถามบ่อยเกินไป ทางแก้ก็คือ กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมไปเสียเลย เช่น "รอให้แม่เตรียมข้าวเย็นเสร็จก่อนนะ" หรือ "ให้แม่กวาดบ้านเสร็จก่อน"

4. พ่อแม่ก็ต้องทำตามเงื่อนไขด้วย

คงไม่ใช่ครอบครัวชินจัง ที่มีแม่มิซาเอะตั้งกฎมากมายกำหราบลูกจอมซนเพียงฝ่ายเดียว แต่พ่อแม่เองก็ต้องยอมรับและร่วมปฏิบัติตามกฎที่ตนตั้งเอาไว้ด้วย ผู้เขียนเคยพบพ่อแม่ลูกสามคนที่ชายทะเลแห่งหนึ่ง พ่อแม่สัญญากับลูกว่าต้องทานข้าวให้หมดก่อนแล้วจะพาไปเล่นน้ำทะเล แต่ปรากฏว่า พอทานข้าวกลางวันเสร็จ พ่อแม่ก็เลือกที่จะนอนเอนหลังสบายบนเก้าอี้ผ้าใบ ส่วนลูกชายก็งอแงไม่ได้เล่นน้ำทะเลอย่างที่ต้องการ เพราะพ่อกับแม่ที่บอกว่าจะพาเขาไปเล่นน้ำ ก็นอนหลับไปเสียแล้ว สุดท้ายเขาก็เลยต้องเล่นคนเดียวอย่างเหงา ๆ (แต่อีกใจหนึ่งผู้เขียนก็เข้าใจ เพราะทานข้าวกลางวันเสร็จพึ่งจะบ่ายโมง แดดทะเลร้อนขนาดไหน ท่านผู้อ่านคงนึกภาพออกค่ะ แต่บังเอิญว่า เขาไม่มีการทำความเข้าใจกับลูก ๆ ก่อนเท่านั้นเอง)

ดัง นั้น ก่อนที่พ่อแม่จะเอ่ยปากสัญญากับลูก ก็ขอให้แน่ใจเสียก่อนว่า สามารถทำตามที่เอ่ยปากเอาไว้ได้จริง ๆ เพราะมันจะทำให้ลูก ๆ อดทนรออย่างเข้าใจ ว่าอีกไม่นานเขาก็จะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ

5. มีรางวัลรออยู่สำหรับเด็กอดทนรอ

หากคุณเอ่ยปากชวนลูก ๆ ให้ร่วมเดินทางไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า พร้อมตั้งเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นเด็กดี ไม่งอแง หรือวิ่งเล่นหายไปให้พ่อแม่เป็นห่วง และเด็ก ๆ ก็สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดรอดฝั่ง จนกระทั่งทุกคนในครอบครัวเดินกลับจากห้างสรรพสินค้าพร้อมกันอย่างมีความสุข ก็ไม่ผิดนักหากคุณจะมีของขวัญพิเศษให้กับลูกสำหรับความพยายามอดทนครั้งสำคัญ นี้ เพราะมันจะทำให้พวกเขาได้ตื่นเต้นกันอีกรอบ (เป็นที่ทราบกันดีว่า ห้างสรรพสินค้ามีสิ่งยั่วใจเด็ก ๆ มากแค่ไหน โดยเฉพาะแผนกของเล่น) อีกทั้งยังทำให้เด็ก ๆ รู้สึกดีกับการอดทนรอ และพร้อมจะทำมันต่อไปในอนาคตด้วย

ก่อนจากกัน ผู้เขียนมีประสบการณ์หนึ่งเกี่ยวกับการอดทนรอคอยมาขอแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน นั่นก็คือ ผู้เขียนมีโอกาสไปทานก๋วยเตี๋ยวร้านอร่อยเจ้าหนึ่ง ความที่เป็นเจ้าอร่อย จึงทำให้ร้านแห่งนี้ในตอนกลางวันคลาคล่ำไปด้วยลูกค้ามากมาย จนเป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าจะมาทานอาจต้องเตรียมใจ-ท้องไว้สักนิดสำหรับการรอคอย

ระหว่างที่ผู้เขียนและลูกค้าโต๊ะอื่น ๆ กำลังรอคอยก๋วยเตี๋ยวกันอย่างใจจดใจจ่อนั้น ก็ได้มีลูกค้าใหม่ 3 รายที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่เข้ามาร่วมวงรอคอยด้วย แต่ดูเหมือนว่าความอดทนจะมีขีดจำกัด เมื่อผู้ใหญ่รายหนึ่งที่เป็นผู้หญิงตัดสินใจว่าคงรอไม่ไหวแล้ว เธอจึงเดินไปหาเจ้าของร้านเพื่อขอให้ช่วย "ลัดคิว" ทำอาหารของโต๊ะเธอก่อนคนอื่น ๆ

เธอ กลับมาที่โต๊ะพร้อมกับบอกสมาชิกในโต๊ะว่า เพราะ "สายสัมพันธ์" จึงทำให้เธอได้มีโอกาส "แซงคิว" โต๊ะอื่น ๆ และผู้เขียนก็ได้เห็นว่า ลูกค้าทั้ง 3 ท่านนี้ ทานอาหารที่ได้มาจากการ "ลัดคิว" ด้วยความภาคภูมิใจ

จาก เรื่องที่ได้ประสบกับตัวเองนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า บางครั้งหากต้องการสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้นกว่าในอดีต เรื่องของการ "อดทน" คงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนไทยต้องฝึก ไม่ใช่เฉพาะแค่ฝึกในครอบครัว พ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่บางทีคงต้องจับผู้ใหญ่มาฝึกกันใหม่เลยทีเดียว

thank you Manager online

No comments: